การเตรียมไฟล์สำหรับส่งพิมพ์
สิ่งพิมพ์แต่ละอย่างจะออกมาสวยงามสมบูรณ์ตามความต้องการของลูกค้าได้นั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายๆ อย่างรวมกัน และอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญเลยเริ่มจากการเตรียมความพร้อมของไฟล์งานก่อนที่จะส่งให้โรงพิมพ์ ลูกค้าจะต้องตรวจให้แน่ใจก่อนว่าครบถ้วนสมบูรณ์ตามความต้องการ การเตรียมไฟล์งานอย่างถูกต้องจะช่วยลดขั้นตอนในการตรวจเช็คไฟล์ทำให้งานเสร็จเร็ว และผลงานจะได้ออกมาตรงตามความต้องการของลูกค้าและไม่เกิดความผิดพลาด ความล่าช้าของงานอีกด้วย
หลักในการเตรียมไฟล์ มีอยู่ 4 หลักด้วยกัน คือ 1. โหมดสีของไฟล์งาน 2. ระยะขอบและระยะตก 3. ฟอนต์/ตัวอักษร 4. การเซฟไฟล์ ซึ่งสามารถแจกแจงรายละเอียดได้ดังต่อไปนี้
- โหมดสีของไฟล์งาน
การพิมพ์งานของโรงพิมพ์จะใช้ระบบพิมพ์ดิจิตอลอ๊อฟเซ็ท ไฟล์งานควรใช้โหมดสีเป็น CMYK เพื่อให้เกิดสีที่เที่ยงตรง ระบบการพิมพ์จะดำเนินแปลงไฟล์สีเข้าสู่มีเดียโดยอัตโนมัติ ซึ่งลูกค้าสามารถเปลี่ยนโปรไฟล์สีมาตรฐานสำหรับโหมด CMYK ในโปรแกรม Adobe ได้หลายวิธี
- ตั้งค่าโหมดสีในโปรแกรม Photoshop,Illustrator,InDesign สามารถตั้งค่าโหมดสี CMYK ได้ด้วยโปรแกรม Photoshop,Illustrator,InDesign โดยตรงเช่นกัน โดยการเปิดโปรแกรมที่ต้องการแล้วไปที่ Edit -> Color Settings -> ที่ CMYK เลือกเป็น Coated FOGRA39 (ISO 12647-2:2004)
- ระยะขอบและระยะตัดตก
ระยะขอบและระยะตัดตก มีความสำคัญมากกับการเตรียมงานพิมพ์
- ระยะขอบ จะอยู่ด้านในขอบของชิ้นงานเข้ามาซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการตัดตัวอักษรและกราฟฟิคต่างๆ ได้โดยจะไม่ถูกตัดจากเครื่องตัดกระดาษ
- ระยะตัดตก จะอยู่นอกขอบงานออกไป ซึ่งจะถูกตัดทิ้งหากไฟล์มีพื้นหลังเป็นสีหรือลวดลายกราฟฟิค ควรที่จะเทสีลงไปจนถึงสุดระยะตัดตกแม้จะถูกตัดทิ้ง และไฟล์งานที่ใช้พิมพ์ควรมีระยะขอบทุกด้านอย่างน้อย 3 มม. และระยะตัดตกทุกด้านอีก 3 มม.
- ฟอนต์/ตัวอักษร
ลูกค้าที่ได้ออกแบบงานโดยใช้โปรแกรม Photoshop, Illustrator หรือ InDesign ฟอนต์ที่ลูกค้าใช้อาจไม่ตรงกับฟอนต์ที่ทางโรงพิมพ์มีอาจจะทำให้เกิดปัญหากับรูปแบบตัวอักษรได้ ชิ้นงานก็จะไม่ตรงกับความต้องการ ควรแปลงฟอนต์ตัวอักษรหรือข้อความต่าง ๆ ให้อยู่ในรูปของกราฟฟิคก่อน ด้วยการ Convert to shape (Photoshop) หรือ Create Outlines (Illustrator หรือ InDesign)
- การเซฟไฟล์เพื่อส่งให้กับโรงพิมพ์
การส่งไฟล์มาให้ทางร้านเพื่อดำเนินการพิมพ์ ควรส่งเป็นไฟล์ต้นฉบับ เช่น PSD, AI, IDD หรือจะเป็น PDF เพราะไฟล์เหล่านี้รองรับเวคเตอร์กราฟฟิค ซึ่งจะทำให้งานพิมพ์คมชัดเจนและถูกต้อง หรือจะส่งเป็นไฟล์ JPEG, TIFF หรือ PNG ก็ได้ แต่ไฟล์เหล่านี้จะต้องมีความละเอียดมากกว่า 300 dpi ขึ้นไป และการเซฟไฟล์เป็น PDF ลูกค้าจะต้องมั่นใจว่าข้อมูลนั้นถูกต้องทั้งหมดทุกอย่างแล้ว เพื่อให้งานได้ออกมาตามความต้องการลูกค้าจริง ๆ
การเตรียมความพร้อมของไฟล์ที่เหมาะสมกับงานพิมพ์และมีความถูกต้อง สามารถลดขั้นตอนและย่นระยะเวลาเช็คไฟล์งาน ทำให้งานนั้นออกมารวดเร็ว ทันเวลากับความต้องการใช้งานและลดความผิดพลาดได้อีกด้วย